
Dental Services
บริการทางทันตกรรม
GENERAL DENTISTRY

ทันตกรรมทั่วไป
งานทันตกรรมทั่วไป คือการให้บริการเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยการถ่ายภาพเอกซเรย์ การให้คำปรึกษาพร้อม การวางแผนการรักษาเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งสำหรับทันตกรรมสมัยใหม่เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงที่สุด
การตรวจวินิจฉัยโรค
การตรวจวินิจฉัยเป็นขั้นตอนเบื้องต้นที่มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ทันตแพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพสูงสุด การตรวจวินิจฉัยนี้สามารถทำได้จากการซักประวัติคนไข้ตรวจในช่องปากด้วยตาเปล่า ในบางกรณีอาจมีความจำเป็นในการถ่ายภาพเอกซเรย์และพิมพ์ปากเพื่อวางแผนการรักษา
การขูดหินปูนและขัดฟัน
การขูดหินปูน คือ การกำจัดหินปูนทำได้โดยการขูดเอาก้อนหินปูนทั้งชนิดใต้เหงือกและเหนือเหงือกออกจนหมด การขูดหินปูนใช้เครื่องมือ 2 ชนิด ชนิดแรกใช้แรงมือขูด ชนิดที่สองเป็นเครื่องขูดหินปูนไฟฟ้า ใช้การสั่นของเครื่องมืออัลตร้าโซนิคในการกะเทาะเอาหินปูนให้หลุดออกจากผิวฟัน การใช้เครื่องมือไฟฟ้าช่วยให้การขูดหินปูนทำได้รวดเร็วกว่าเดิม ทั้งยังให้ความสะดวกในการทำงานอีกด้วย
การขัดฟัน เป็นการขัดคราบหลังจากการขูดหินปูนออกแล้ว เพื่อกำจัดคราบสีจากอาหารที่ติดอยู่บนผิวของเนื่อฟันอีกที
ฟลูออไรด์ เป็นสารช่วยป้องกัน และลดการผุของฟัน ช่วยให้โครงสร้างของเคลือบฟันแข็งแรง ต้านทานต่อฟันผุได้ดีขึ้น
สาเหตุการเกิดหินปูน
หินปูนเกิดขึ้นมาจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งซ่อนตัวอยู่ตามซอกฟันน้ำตาลจากเศษอาหารที่ติดฟัน จะทำให้เชื้อนี้เจริญเติบโต พร้อมกับผลิตกรดบางอย่างขึ้นมา ซึ่งสามารถทำลายแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของผิวเคลือบฟันได้ จากนั้นแบคทีเรียดังกล่าว ก็จะสร้างหินปูนขึ้นมาปกคลุมตัวเองอีกชั้นหนึ่ง โดยไม่หลุดลอกหรือถูกชะล้างไปไหน หากปล่อยไว้นานวันหินปูนเหล่านี้ก็จะยิ่งพอกพูนหนาขึ้น ขณะที่ผิวเคลือบฟันและเนื้อฟันค่อย ๆ ผุกร่อนลง
วัยที่ควรเริ่มขูดหินปูน
สามารถขูดหินปูนได้ทุกวัย แม้กระทั่งในวัยเด็กที่มีฟันน้ำนมขึ้นแล้วไปจนกระทั่งผู้สูงอายุในระยะแรก ๆ หลังการขูดหินปูน ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาด ตามที่ทันตแพทย์แนะนำ จากนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดได้ดี ไม่มีเหงือกอักเสบ หรือไม่มีร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจและขูดหินปูนภายใน 5-6 เดือน โดยทุกครั้งจะดูความร่วมมือของผู้ป่วย และอาจทบทวนวิธีการทำความสะอาดฟันและเหงือกด้วย
ขั้นตอนการขูดหินปูน
การขูดหินปูนเป็นวิธีรักษาทางทันตกรรมที่สามารถทำได้ในคลินิก และสามารถกลับบ้านได้ทันทีเมื่อทำการขูดหินปูนเสร็จ
ขั้นตอนที่ 1 – ตรวจสุขภาพฟัน
โดยส่วนใหญ่แล้วการขูดหินปูนจะเริ่มจากการตรวจสุขภาพฟันโดยทันตแพทย์จะทำการตรวจสุขภาพฟันโดยรวมตรวจดูเหงือกอักเสบ หรือปัญหาสุขภาพฟันอื่น ๆ
ขั้นตอนที่ 2 – ขูดหินปูน
ทันตแพทย์จะเริ่มใช้เครื่องมือในการขูดหินปูนและคราบแบคทีเรียออกจากบริเวณใกล้ ๆ กับเหงือก และระหว่างเหงือกกับฟัน ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้ยินเสียงขูด ทั้งนี้จะใช้เวลานานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณหินปูนและบริเวณที่เกิดหินปูน การมีเลือดออกระหว่างขูดหินปูนเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเหงือกที่อักเสบจากหินปูนจะมีเลือดออกได้ง่ายจากการสัมผัสเพียงเล็กน้อย
ขั้นตอนที่ 3 – ขัดทำความสะอาดฟันหรือขัดฟัน
หลังจากขูดหินปูนออกหมดแล้ว ทันตแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่เตรียมไว้สำหรับการขัดฟัน ซึ่งจะใช้เพื่อทำความสะอาดและกำจัดคราบหินปูนที่ตกค้างหลังจากการขูดออกไป ทั้งนี้การขัดทำความสะอาดฟันจะใช้ผงขัดฟันที่ใช้สำหรับการขัดฟันโดยเฉพาะ
ขั้นตอนที่ 4 – การใช้ไหมขัดฟันโดยทันตแพทย์
เมื่อขัดฟันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์จะใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยตรวจสอบว่ามีบริเวณร่องฟันหรือส่วนใดของเหงือกที่มีปัญหา ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจทำให้เลือดออกจากเหงือกได้หากเหงือกบริเวณดังกล่าวอ่อนแอ
ขั้นตอนที่ 5 – บ้วนปาก
เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนการใช้ไหมขัดฟันแล้ว ทันตแพทย์จะให้บ้วนปากครั้งหนึ่งก่อนเพื่อล้างเศษที่ยังตกค้างจากการขูดหินปูน เพื่อเข้าสู่กระบวนการขั้นต่อไป
ขั้นตอนที่ 6 – เคลือบฟลูออไรด์
การเคลือบฟลูออไรด์เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการขูดหินปูน โดยการเคลือบฟลูออไรด์นั้นจะช่วยป้องกันฟันจากฟันผุได้ชั่วคราว โดยแพทย์จะใส่สารสำหรับเคลือบฟันลงในถาดเคลือบฟลูออไรด์ที่มีลักษณะคล้ายถาดพิมพ์ฟัน แล้วให้ผู้ป่วยกัดไว้ประมาณ 1 นาทีแล้วนำออก ก็เป็นอันเสร็จสิ้น
การป้องกันคราบหินปูน
เราสามารถป้องกันหินปูนได้โดยการกำจัดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากโดยการ
- แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน การแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ให้บ้วนน้ำแรง ๆ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร
- ทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
- หลีกเลี่ยงอาหารหวาน ๆ โดยเฉพาะระหว่างมื้อ
- แปรงลิ้นทุกครั้งหลังแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย
- พบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสภาพเหงือกและฟัน เพื่อทำความสะอาดฟันบริเวณที่เหลือจากการทำความสะอาด และรับการรักษาระยะเริ่มแรก ก่อนที่ท่านจะต้องสูญเสียฟันของท่าน เนื่องจากโรคฟันผุและปริทันต์
ประโยชน์ของการขูดหินปูน ขัดฟันและเคลือบฟลูออไรด์
- การขูดหินปูนถือเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันโรคเหงือก ซึ่งหลังจากการขูดหินปูนแล้ว ผู้เข้ารับการขูดหินปูนควรรักษาความสะอาดของช่องปาก และทำตามแนะนำของทันตแพทย์
- การขูดหินปูนเพื่อรักษานั้น หากมีคราบแบคทีเรียเริ่มเกาะตัวกันจนกลายเป็นคราบแข็งก็ควรทำการขูดหินปูนเพื่อป้องกัน เนื่องจากหากปล่อยไว้ก็จะทำให้กลายเป็นโรคเหงือก และเป็นสาเหตุให้สูญเสียฟันได้
- การเคลือบฟลูออไรด์ มีผลดี คือ ฟลูออไรด์ทำให้ผิวเคลือบฟันมีความแข็งแรง ทนต่อการกัดกร่อนของกรดที่แบคทีเรียในช่องปากสร้างขึ้นมาได้ดีขึ้น
- ช่วยลดปัญหากลิ่นปากและเหงือกบวมอักเสบให้บรรเทาและหายได้
- เมื่อหมั่นตรวจเช็คสุขภาพช่องปากและพบทันตแพทย์ประจำทุก 3-6 เดือนช่วยลดโอกาสการเป็นโรคเหงือกอักเสบหรือปริทันต์ได้ ถ้าได้รับการรักษาได้ทันเวลา
การอุดฟัน
การอุดฟัน เป็นวิธีบูรณะฟันที่มีการสูญเสียเนื้อฟันจากสาเหตุต่างๆ อาทิ ฟันผุ ฟันสึกจากการแปรงฟันผิดวิธี ฟันแตกหักจากอุบัติเหตุ ที่ไม่รุนแรงจนถึงโพรงประสาทฟัน
พฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ
“ระยะเวลาและความถี่” ที่อาหารหวาน (น้ำตาล) สัมผัสกับตัวฟัน มีผลต่อการเกิดฟันผุมากกว่า “ปริมาณ”ของน้ำตาลที่มีอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มนั้นๆ ดังนั้น หากรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ โดยเฉพาะของหวานที่มีความเหนียวที่ทำให้น้ำตาลติดอยู่กับฟันนานๆ เช่น ลูกอม หรือการดื่มเครื่องดื่มบ่อยๆ เช่น การจิบน้ำหวาน หรือดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลบ่อยๆ ระหว่างวัน จะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้มากขึ้น
การอุดฟัน คือ การบูรณะฟันที่ผุ หรือแตกที่มีขนาดไม่ใหญ่มากด้วยวัสดุอุดฟัน ซึ่งแบ่งได้ตามลักษณะการอุดด้วยวัสดุ ดังนี้
วัสดุอุดอมัลกัม (Amalgam Filling) silver filling สีโลหะ จึงใช้อุดเฉพาะฟันหลังเท่านั้น ทันตแพทย์จึงต้องกรอฟันเป็นช่องลักษณะคล้ายกล่องเพื่อให้วัสดุยึดติดได้ หลังจากอุดฟันมักจะแนะนำให้งดเคี้ยวอาหารข้างที่อุก 24 ชั่วโมงเพื่อรอให้วัสดุอมัลกัมแข็งตัวเต็มที่
การดูแลหลังการอุดฟันด้วยอมัลกัม
- อายุการใช้งานของฟันที่ได้รับการอุดทุกซี่จะขึ้นอยู่กับ การใช้งาน และการดูแลทำความสะอาดเป็นหลัก ต้องหมั่นดูแลรักษาความสะอาดอยู่เสมอ
- ไม่ควรใช้ฟันที่เพิ่งอุดใหม่ๆเคี้ยวอาหาร ควรทิ้งไว้อย่างน้อย 24 ชั่วโมงเพื่อให้วัสดุแข็งตัวเต็มที่ให้เคี้ยวอาหารเฉพาะด้านที่ไม่ได้รับการอุดฟันเพียงข้างเดียวไปก่อน
- ควรกลับมาขัดวัสดุให้เรียบและขึ้นเงาตามที่ทันตแพทย์นัดหมาย การขัดเรียบจะช่วยให้แผ่นคราบแบคทีเรียเกาะติดได้ยากขึ้น ลดการเกิดการผุใหม่ตามขอบวัสดุและยืดอายุการใช้งานของฟันซี่นั้นด้วย
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสภาพฟันที่อุดไปว่าวัสดุยังอยู่ในสภาพดีไม่มีการผุต่อ
- ในกรณีที่มีการเสียวฟันหรือปวดฟัน หรือมีการแตกและหลุดของวัสดุอุดฟันควรพบทันตแพทย์ทันที
ข้อดีและข้อเสียของการอุดฟันด้วยอมัลกัม
ข้อดี
- ราคาถูก
- แข็งแรงและเหมาะกับฟันกรามเพราะทนแรงบดเคี้ยวได้ดี
- ขั้นตอนการอุดฟันซับซ้อนน้อยกว่าการอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน ซึ่งส่งผลให้โอกาสเกิดความผิดพลาดในการอุดที่น้อยลง
- อายุการใช้งานนาน
ข้อเสีย
- หลังอุดต้องรอ 24 ชั่วโมงจึงจะใช้ฟันซี่นั้นบดเคี้ยวอาหารเพราะต้องรอให้วัสดุแข็งแบบสนิทก่อน
- ต้องมีการกรอเนื้อฟันจริงๆออกมากกว่าเพราะวัสดุสีเงินต้องการความหนาของวัสดุให้เพียงพอต่อความแข็งแรง
- ความสวยงามน้อย เนื่องจากมีสีไม่เหมือนฟันตามธรรมชาติ
- การเปลี่ยนสีของฟัน วัสดุอมัลกัมอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนสีของเนื้อฟันรอบๆวัสดุอุดเป็นสีเทาเงิน
เมื่อมีการใช้งานผ่านไปสักพัก อาจมีโอกาสเกิดรอยรั่วตรงขอบวัสดุได้ เนื่องจากมีการเสื่อมของวัสดุ (amalgam leakage) จึงมีโอกาสเกิดฟันผุใต้รอยวัสดุอุดได้ง่าย
วัสดุสีเหมือนฟัน (Composite Resin Filling) Tooth-colored วัสดุอุดฟันจำพวกเรซิ่นหรือคอมโพสิตเรซิ่นจะมีสีเหมือนฟันธรรมชาติ และใช้บูรณะได้ทั้งฟันหน้าและฟันหลัง จึงเป็นที่นิยมมากสำหรับคนไข้ที่ต้องการความสวยงาม วัสดุชนิดนี้จะแข็งตัวได้ด้วยการฉายแสงจากเครื่องฉายแสงทางทันตกรรม โดยต้องอาศัยสารยึดติด (Bonding) ช่วยให้ยึดติดกับฟัน การอุดฟันด้วยคอมโพสิต เรซิน ถือเป็นทันตกรรมเพื่อความงามอย่างหนึ่ง ซึ่งการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟันเพื่อบูรณะฟันแบบนี้จะทำในกรณีที่ไม่ได้มีการสูญเสียเนื้อฟันจากฟันผุ แต่ต้องการอุดฟันเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ เช่น ฟันหน้าที่มีช่องห่างหรือที่มีการเปลี่ยนแปลงสีของฟัน ฟันที่มีรูปร่างเล็กกว่าปกติ
การดูแลหลังการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน
- ท่านที่มีฟันที่อุดด้วยคอมโพสิต ถ้าวัสดุหรือตามรอยขอบเปลี่ยนสี ควรให้ทันตแพทย์ตรวจเช็คดูว่า มีรอยรั่วหรือไม่ ท่านที่มีรอยอุดฟันในปากจึงควรให้ทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน
- อายุการใช้งานก็ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟันที่ได้รับการบูรณะกัดฉีกของแข็งหรือสิ่งของต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสีจัด เนื่องจากวัสดุอุดจะดูดจับสีได้มากกว่าผิวฟัน อาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะมีผลต่อวัสดุอุด การฟอกสีฟันจะไม่สามารถเปลี่ยนสีวัสดุอุดได้
- ชา กาแฟ และการสูบบุหรี่ ตลอดจนสารอื่น ๆ อาจทำให้วัสดุอุดฟันเป็นคราบ ดังนั้น เพื่อป้องกันและลดการเกิดคราบให้น้อยที่่สุด
- สารประกอบเรซินที่ใช้อุดฟันไม่แข็งแรงเหมือนฟันจริง ดังนั้น หากมีพฤติกรรมกัดเล็บ เคี้ยวน้ำแข็งหรือปากกา ก็อาจทำให้วัสดุอุดฟันแตกหักได้ ตามปกติแล้ว วัสดุอุดฟันจะอยู่ได้นานหลายปี ควรจะต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อบูรณะฟันใหม่หากตรวจพบว่าวัสดุเสื่อมสภาพ แต่วัสดุอุดฟันจะอยู่ได้นานเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาดเป็นหลัก
- หลังจากอุดฟันมาระยะหนึ่ง หากเห็นว่าฟันที่อุดมานั้นมีขอบแหลมคม รู้สึกว่าฟันแปลก ๆ หรือ กัดฟันมีจุดสูง จุดกระแทก หรือเสียวฟัน ตอนกัดฟัน ให้ติดต่อกลับมาตรวจเช็คกับทันตแพทย์อีกครั้ง
ข้อดีและข้อเสียของการอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน
ข้อดี
- ไม่มีสารปรอท
- ดูแล้วเหมือนสีฟันธรรมชาติ สวยงาม มีสีให้เลือกหลายเฉดสีตาม สีของฟัน
- วัสดุแข็งตัวทันทีโดยไม่ต้องรอ 24 ชั่วโมงก่อนใช้งาน
- ทันตแพทย์ไม่ต้องกรอฟันออกมาก สามารถรักษาเนื้อฟันได้มากกว่าการใช้อมัลกัม เนื่องจากการอุดด้วยวัสดุสีเหมือนฟันสามารถทำได้ด้วยการกรอเนื้อฟันที่เสียออกเท่านั้น ขณะที่การอุดด้วยอมัลกัมต้องทำการกรอเนื้อฟันมากกว่าที่ผุเพื่อรองรับวัสดุอมัลกัม
- สามารถใช้ในการตกแต่งและซ่อมแซมฟันที่บิ่น แตกหรือหักให้กลับมามีรูปร่างดีและมีความสวยงามดังเดิม
- ปัจจุบันมีการพัฒนาวัสดุที่มีความแข็งแรงมากขึ้นเทียบเท่าหรือแข็งแรงกว่าอมัลกัม ทำให้สามารถมีอายุการใช้งานที่นานมากกว่า 10 ปี ขึ้นอยู่กับการใช้งานและดูแลรักษาของคนไข้
ข้อเสีย
- ราคาสูงกว่า
- ใช้เวลาในการอุดนานกว่า เนื่องจากวิธีการที่ซับซ้อนกว่า และต้องควบคุมความชื้นขณะที่ทำการรักษา
- อาจมีการเสียวฟันได้หลังจากอุดฟันไป
- สามารถติดสีจากอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภค เช่น ชา กาแฟ หรือจากการสูบบุหรี่
- ไม่เปลี่ยนสีขาวขึ้นเหมือนฟันธรรมชาติหากฟอกสีฟันขาวภายหลัง
- การแตกของวัสดุ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่อุด
- ราคาจะสูงกว่าการอุดด้วยวัสดุอมัลกัม(ไม่ได้แตกต่างกันมาก)
วัสดุอุดฟันชั่วคราว
วัสดุอุดฟันจะช่วยปิดคลุมฟันเพียงชั่วคราวเพื่อดูอาการหรือรอการรักษาอื่นๆต่อไป วัสดุอุดฟันชั่วคราวไม่ได้มีไว้ใช้งานอย่างถาวร ตามปกติแล้ว วัสดุเหล่านี้จะหลุด แตก หรือสึกกร่อนภายในหนึ่งหรือสองเดือนเท่านั้น จึงใช้เฉพาะเวลาสั้นๆเพื่อรอดูอาการหรือรอการรักษาอย่างอื่นต่อไป
การดูแลหลังการอุดฟันด้วยวัสดุชั่วคราว
- ไม่ควรใช้ฟันที่อุดด้วยวัสดุชั่วคราว ( สีขาว ) ใน 1-2 ชั่วโมงแรก เนื่องจากวัสดุชั่วคราวจะนิ่มมากและหลุดง่าย หลังจากนั้นวัสดุ จะค่อยๆแข็งตัวขึ้น
- วัสดุชั่วคราว มีอายุการใช้งานที่จำกัด จะค่อยๆๆกร่อนไปภายใน 2-4 สัปดาห์ จึงควรกลับมาพบทันตแพทย์ เพื่อทำการรักษาฟันซี่นั้นให้ถาวร และสามารถใช้งานได้ตามปกติ
- ในกรณีที่มีอาการเสียวฟันหรือปวดฟัน หรือมีการแตกและหลุดของวัสดุอุดฟัน ควรเข้าพบทันตแพทย์ทันที
- การอุดฟันชั่วคราวจะไม่คงทนมันสามารถหลุดออกมาได้ง่าย คนไข้ต้องติดต่อทันตแพทย์เพื่อเปลี่ยนตัวอุดชั่วคราวเป็นถาวรหรือรับการรักษาอื่นๆตามที่ทันตแพทย์นัดหมาย ถ้าคนไข้ไม่ทำการเปลี่ยนการอุดชั่วคราวคนไข้มีโอกาสเกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้นได้
ข้อดีและข้อเสียของการอุดฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราว
ข้อดี
- ราคาถูก
- ขั้นตอนการทำไม่ยากและซับซ้อน
- สามารถรื้อออกได้ง่ายเมื่อต้องมาทำการรักษามากกว่าหนึ่งครั้งเช่น การรักษารากฟัน
ข้อเสีย
- การอุดฟันชั่วคราวจะไม่คงทนมันสามารถหลุดออกมาเมื่อไหร่ก็ได้
- อายุการใช้งานจำกัด ใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
- ไม่สามารถใช้ฟันด้านที่อุดชั่วคราวไปได้ ภายใน 1-2 ชั่วโมงแรก เพราะวัสดุยังไม่แข็งแรงพอ
ขั้นตอนในการอุดฟัน
สำหรับขั้นตอนในการทำอุดฟันนั้นมีดังนี้
- เริ่มการกรอฟัน
- โดยทั่วไปจะใช้หัวกรอเร็ว (Airotor)กรอฟันก่อน
- เมื่อกรอฟันลึกขึ้นจนส่วนที่ผุใกล้โพรงประสาทฟัน อาจใช้หัวกรอช้า (Airmotor)
- บางกรณีที่ผู้ป่วยเสียวฟันหรือฟันผุลึก อาจฉีดยาชาเพื่อระงับอาการเสียวฟัน
- การใส่วัสดุอุดฟันไปในบริเวณฟันที่ผุ ที่ทันตแพทย์ได้ทำการกรอฟันเตรียมไว้แล้ว และเมื่อเติมวัสดุอุดฟันเข้าไปแล้ว ทันตแพทย์ก็จะทำการตกแต่งให้ได้รูปร่าง (รายละเอียดขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้อุดฟัน)
การป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ
- ป้องกันฟันผุโดยเข้ารับการรักษากับทันตแพทย์ควรพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลเหงือกและฟัน
- ป้องกันฟันผุด้วยตัวเองที่บ้านแปรงฟันวันละ 2 ครั้งทำความสะอาดร่องฟันด้วยไหมขัดฟันและ/ หรือใช้แปรงทำความสะอาดซอกฟัน
- ไปพบทันต์แพทย์เพื่อตรวจฟันทุกๆ 6 เดือน เพื่อป้องกันและหยุดปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และเป็นการตรวจพบปัญหาเล็กๆ ก่อนที่จะเป็นปัญหาใหญ่
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยฟลูออไรด์ รวมถึงยาสีฟัน
- หลังอาหารมื้ออื่นๆ อาจใช้วิธีบ้วนปาก นอกจากท่านที่มีฟันซ้อนเก หรือใส่เครื่องมือจัดฟัน หรือฟันผุง่าย ควรแปรงฟันหลังทานอาหารด้วย
- ควรปรับปรุงพฤติกรรมการบริโภคอาหารหวาน ด้วยการลดความถี่ในการบริโภคน้ำตาล ไม่กินจุบกินจิบ และหลีกเลี่ยงขนมหวานเหนียวหนึบติดฟัน และลดเครื่องดื่มที่เป็นกรด เช่น น้ำอัดลม โซดา
- พบทันตแพทย์ เพื่อตรวจและรักษาสุขภาพในช่องปาก รับคำแนะนำต่างๆ ทำการเคลือบหลุมและร่องฟัน หรือให้ฟลูออไรด์เข้มข้นเพื่อเป็นการป้องกันฟันผุตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
การถอนฟัน
การถอนฟัน(Teeth Extraction) จะทำในกรณีที่ฟันซี่นั้นผุ แตก ไม่สามารถบูรณะกลับมาใช้งาน หรือไม่มีประโยชน์ต่อการบดเคี้ยวอีกแล้ว นอกจากนี้การถอนฟันอาจทำเพื่อเปิดช่องว่างสำหรับการจัดฟันให้เรียงตัวได้อย่างสวยงาม โดยทั่วไปการถอนฟันจะทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ เมื่อชาเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีแรงกดเพียงเล็กน้อย ไม่เจ็บปวด หลังถอนฟันให้กัดผ้าก็อซให้แน่น ประมาณ 1 ชม.เลือดก็จะหยุดไหล โดยทั่วไปการถอนฟันธรรมดา จะไม่มีอาการบวม อาการเจ็บจะหายไปภายใน 1 วัน สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และแผลถอนฟันจะหายภายใน 5-7 วัน ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังถอนฟัน ให้งดการบ้วนน้ำแรงๆ เพราะอาจะทำให้ลิ่มเลือดที่ปิดแผลหลุดออกและทำให้เกิดอาการปวดได้ หลังจากถอนฟันแล้วประมาณ 1 เดือน เมื่อแผลหายสนิท และสันเหงือกว่างยุบตัวลงเล็กน้อยจนคงที่แล้ว ควรใส่ฟันทดแทน หากไม่ใส่ฟันทดแทน ฟันข้างเคียงจะล้มเข้าสู่ช่องว่าง ฟันคู่สบจะยื่นยาวลงมาในช่องว่าง ทำให้เกิดปัญหาฟันห่าง ฟันล้มเอียงจนง่ายต่อการเกิดฟันผุ และโรคเหงือก หรืออาจเป็นสาเหตุของการเกิดการสบฟันผิดปกติทั้งระบบในระยะยาว และเมื่อฟันล้มเอียงเข้าสู่ช่องว่างและ ทำให้การใส่ฟันทนแพทนทำได้ยาก มีขึ้นตอนที่วุ่นวายมากขึ้น
สาเหตุที่ควรถอนฟัน
การถอนฟันถือเป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากทันตแพทย์พิจารณาหรือพยายามรักษาด้วยวิธีอื่นเพื่อเลี่ยงการถอนฟันแล้วแต่ไม่ได้ผล หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องถอนฟัน ได้แก่
- ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันหรือฟันที่มีหนองปลายรากฟัน ไม่สามารถให้การรักษาทางทันตกรรมด้านอื่นๆเลย เช่น การรักษาคลองรากฟัน
- ฟันที่มีโรคปริทันต์รอบๆตัวฟันที่รุนแรงอาจจะร่วมกับการเป็นหนองปริทันต์
- ฟันเกินที่ขึ้นมาในลักษณะที่ไม่เป็นระเบียบ
- ฟันลักษณะอื่นๆ เช่น ฟันที่มีรูปร่างผิดปกติหรือฟันที่ขึ้นในตำแหน่งที่ผิดปกติที่ไม่ได้ใช้งาน
- ฟันคุด
- ฟันซ้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดฟัน สำหรับผู้ที่จัดฟันบางราย หากมีฟันซ้อนกันมากเกินไปในช่องปากจนไม่มีที่ให้ฟันขยับตัว ทันตแพทย์จัดฟันจึงต้องถอนฟันบางซี่ออกไป เพื่อให้ฟันสามารถขยับเรียงตัวอย่างสวยงามได้
- ฟันที่ต้องถอนเพื่อการใส่ฟัน
- ในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถเก็บฟันไว้ได้โดยการรักษารากฟัน หรือไม่มีเวลามารับการรักษาระยะยาว จะเลือกวิธีถอนฟัน
ขั้นตอนการถอนฟัน
- เอ็กซ์เรย์ฟัน ให้เห็นถึงความยาว รูปร่างและตำแหน่งของฟันและกระดูกบริเวณรอบๆ ฟัน
- ซักประวัติ วัดความดัน
- ฉีดยาชาบริเวณรอบๆ ฟันที่จะถูกถอน
- ถอนฟัน
- อาจมีการเย็บปิดแผลในบางการรักษาขึ้นอยู่กับทันตแพทย์พิจารณา
การดูแลรักษาและคำแนะนำหลังการถอนฟัน
- กัดผ้าก็อซแน่นๆไว้ประมาน 1 ชั่วโมง มีเลือดหรือน้ำลายให้กลืน ห้ามดูดแผลหรือเลือด ห้ามบ้วนน้ำหรือน้ำลาย
- เมื่อครบ 1 ชั่วโมง ให้คายผ้าก็อซออก หากยังมีเลือดไหลอยู่ ให้เปลี่ยนอันใหม่กัด ก่อนเปลี่ยนให้ล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ยาชาจะมีฤทธิ์ 1-2 ชั่วโมง หากมีอาการปวดให้ทานยาตามที่ทันตแพทย์สั่ง
- งดสูบบุหรี่หรือทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงแปรงฟันบริเวณแผล 1-2 วัน
- ห้ามเอานิ้วมือ ไม้จิ้มฟัน แคะเขี่ยบริเวณแผล และห้ามดูดแผลเล่น
- ในกรณีที่เป็นแผลผ่าตัดหรือแผลผ่าฟันคุดจะมีการเย็บแผลไว้ให้กลับมาตัดไหมภายหลังประมาณ5-7วัน
- ไม่ควรใช้หลอดดื่มน้ำ เพราะแรงดูดจะกระตุ้นให้ลิ่มเลือดที่แผลผ่าตัดหลุด ส่งผลให้เลือดไหลได้
- อย่าทำกิจกรรมที่ต้องออกกำลังหลังการถอนฟันเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- ถ้ามีอาการบวม หรือรู้สึกอาการผิดปกติ ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจดูใหม่
- หลังจากถอนฟันแล้วประมาณ 1 เดือน เมื่อแผลหายสนิท และสันเหงือกว่างยุบตัวลงเล็กน้อยจนคงที่แล้ว ควรใส่ฟันทดแทน หากไม่ใส่ฟันทดแทน ฟันข้างเคียงจะล้มเข้าสู่ช่องว่าง ฟันคู่สบจะยื่นยาวลงมาในช่องว่าง ทำให้เกิดปัญหาฟันห่าง ฟันล้มเอียงจนง่ายต่อการเกิดฟันผุ และโรคเหงือก หรืออาจเป็นสาเหตุของการเกิดการสบฟันผิดปกติทั้งระบบในระยะยาว และเมื่อฟันล้มเอียงเข้าสู่ช่องว่างและ ทำให้การใส่ฟันทดแทนทำได้ยาก มีขึ้นตอนที่วุ่นวายมากขึ้น